เปิดแก่นความคิดเบื้องหลัง ชื่อเสียงในเวทีระดับโลกกว่า 10 ปี ของ Bambunique กับ พนาสิทธิ์ พิมจันทร์ ผู้ก่อตั้งร่วมและดีไซเนอร์ของแบรนด์
การนำไม้ไผ่มาประยุกต์เป็นเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้มักสร้างภาพจำในเชิงวัสดุราคาถูก แต่ผู้ที่หลงใหลในงานไม้ไผ่ไทยอย่าง “พนาสิทธิ์ พิมจันทร์” กลับเห็นต่าง จึงก่อตั้งเป็นแบรนด์ Bambunique ขึ้นมาในปีพ.ศ. 2553 เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ความเป็นวัสดุไร้ค่า ให้ไผ่ไทยกลายเป็นสินค้าระดับ Luxury ได้แบบไม่อายใคร การันตีความสำเร็จระดับนานาชาติด้วยรางวัล DEmark และ GEmark จากประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2557 จากคอลเลคชั่น Bench RA-DEE ที่พนาสิทธิ์ได้ออกแบบร่วมกับ อมรเทพ คัชชานนท์ หนึ่งในดีไซเนอร์ที่ช่วยออกแบบผลงานในหลายคอลเลคชั่นด้วยกัน
เบื้องหลังความสนใจในงานไม้ไผ่ หยั่งรากลึกมาจากความหวงแหนในผืนป่าที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจากคุณพ่อที่ทำงานในกรมป่าไม้ไทย เมื่อจบการศึกษาจากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พนาสิทธิ์ได้นำวิชาความรู้มาผสมผสานกับความสนใจส่วนตัวในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเป็นไทย ความเป็นเอเชียและศิลปะร่วมสมัย มาถักถอลงในผลงานของ Bambunique พนาสิทธิ์พูดถึงความท้าทายในการสร้างผลงานว่า “ไผ่เป็นไม้ที่มีชีวิต ขนาดและลวดลายที่แตกต่างกันในแต่ละลำทำให้เป็นไม้ที่ใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมได้ยาก” แต่ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า “ไม้ไผ่ไทยแทบจะเป็นไม้ที่ดี่ที่สุดในโลก” จึงส่งแรงกระตุ้นให้พนาสิทธิ์ได้ทดลองนำไม้ไผ่ลำมาย่อยเป็นเส้น ก่อนอัดประสานขึ้นรูป เพื่อทดสองความยืดหยุ่นและความเหนียว ซึ่งผลการตอบสนองที่ดีจึงนำไปสู่การพัฒนาดีไซน์ในลำดับถัดไป Bambunique เลือกใช้ไม้ไผ่ที่ปลูกในประเทศไทยเท่านั้น นำเทคนิคโบราณดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในเรื่องการป้องกันแมลง การประกอบ และการทำสีมาประยุกต์ใช้ให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนมากกว่าไผ่พื้นบ้าน ความประณีตในทุกกระบวนการทำให้ผลงานของทางแบรนด์เข้าใกล้ความเป็นงานฝีมือมากกว่าสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตด้วยเครื่องจักร ครองใจกลุ่มลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์
“เมื่อไผ่ถูกตัดก็จะงอกขึ้นมาทดแทนใหม่ไปเรื่อยๆ ดังนั้น การปลูกไม้ไผ่ 1 ครั้ง สามารถลดการใช้ไม้ชนิดอื่นได้” พนาสิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมถึงข้อดีของไม้ไผ่ ที่เขาเองอย่างสนับสนุนและกระตุ้นให้คนเกิดความสนใจหันมาใช้เป็นไม้ทดแทนมากขึ้น “หนึ่งในความภาคภูมิใจล่าสุดคือการผลิตและติดตั้งฝ้าไม้ไผ่ในโครงการ PTTLNG Receiving Terminal Nong Fab จ.ระยอง ทั้งภายในและกึ่งภายนอกของอาคารบริหารกว่า 2,000 ตร.ม.” เจ้าของแบรนด์ผู้มีจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยกตัวอย่างให้เราฟังถึงหนึ่งในโปรเจ็คสุดคูลที่ Bambunique ได้นำไม้ไผ่ไปใช้ในเชิงสถาปัตยกรรม โดยพนาสิทธิ์ได้ปิดท้ายถึงทิศทางในอนาคตของ Bambunique ว่ายังคงเข้มข้นตามเจตนารมณ์เริ่มต้นที่ว่า Classic Asian Contemporary Sustainable Materials and Furnitures แต่จะเพิ่ม “การใช้ไม้ไผ่ในการตอบสนองสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ให้ครบในทุกด้าน” ซึ่งแค่เกริ่นคอนเซ็ปต์มาก็พอจะรู้แล้วว่า unique สมกับความเป็น Bambunique จริงๆ
สนใจผลิตภัณฑ์ของ Bambunique สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bambunique.com/
Comments